ความเป็นมาของตำบล
ประวัติท้องถิ่นชุมชนลาวเวียงจันทน์
การตั้งถิ่นฐานของชุมชนลาวเวียงจันทน์หมู่บ้านหาดสองแคว ตำบลหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์ จากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ได้กล่าวไว้ว่า บรรพบุรุษของตนได้อพยพมาจากเมืองลาวเวียงจันทน์ มาตั้งหลักแหล่งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่านที่หมู่บ้านกองโค ตำบลคอรุม อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ในปัจจุบัน เมื่อชุมชนขยายใหญ่ขึ้น จึงขยายขึ้นไปทางทิศเหนือ ตามลำแม่น้ำน่าน จนถึงเขตบ้านแก่งจนเกิดเป็นชุมชนเล็กๆ ได้แก่บ้านวังสะโม บ้านหาดสองแคว บ้านเด่นสำโรงและบ้านวังแดง
สำหรับที่มาของชื่อหมู่บ้านหาดสองแควนั้น ได้ตั้งชื่อขึ้นตามลักษณะภูมิประเทศที่ตั้งของหมู่บ้านในขณะนั้น ซึ่งเป็นทางออกของลำน้ำสองสายที่ไหลมาบรรจบกันคือ แม่น้ำน่านกับคลองตรอน มีลักษณะเป็นลำน้ำสองสายไหลมาบรรจบกันจึงเรียกกันว่า “สองแคว” และบริเวณที่ตั้งของหมู่บ้าน ได้เกิดเป็นสันทราย ยื่นออกมาเป็นแนวหาดทรายยาวตลอดหมู่บ้าน จึงเรียกบริเวณนี้ว่า “บ้านหาดสองแคว” สมัยก่อนชาวเรือที่เดินทางผ่านมาจึงมักจะค้างแรมบริเวณหาดทรายแห่งนี้
คลองตรอน(ขวา) ไหลมาบรรจบแม่น้ำน่าน(ซ้าย)
ชุมชนลาวเวียงหมู่บ้านหาดสองแคว เป็นชุมชนลาวเมืองเวียงจันทน์ที่เข้ามาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า เจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 หลังจากปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์ได้แล้วในปี พ.ศ. 2371 การย้ายถิ่นเข้ามาของครัวลาวเมืองเวียงจันทน์มีทั้งกวาดต้อนด้วยกองทัพ กรุงเทพฯ และบรรดาหัวเมืองลาวต่างๆ โดยส่งมาพักไว้ตามเมืองใหญ่ ๆ ก่อน ได้แก่ เมืองพิษณุโลก เมืองพิชัย เป็นต้น
พัฒนาการของชุมชนชาวลาวเวียงหมู่บ้านหาดสองแคว สันนิษฐานว่าเกิดจากการขยายตัวของจำนวนประชากร ออกไปในพื้นที่ใกล้เคียงและกว้างไกลออกไปเพื่อบุกเบิกที่ดินทำกินเป็นของตน เอง โดยได้เดินทางอพยพขึ้นเหนือมาตามลำน้ำน่านจากหมู่บ้านกองโค จนมาถึงบ้านวังสะโม ส่วนหนึ่งได้หักล้างถางพงสร้างบ้านปลูกเรือน ณ ที่นี้ ส่วนกลุ่มอื่นๆ ก็ได้เคลื่อนย้ายกันต่อไป จนกระทั่วถึงยังบริเวณที่ตั้งของหมู่บ้านหาดสองแควในปัจจุบัน ที่มีลักษณะเป็นทางออกของลำน้ำสองสาย ที่ไหลมาบรรจบกันคือ แม่น้ำน่านกับคลองตรอน
เมื่อกระแสน้ำน่านไหลผ่านบริเวณที่ตั้งของหมู่บ้าน ซึ่งมีสภาพพื้นที่ลาดชันน้อยลง กระแสน้ำไหลช้าลง กรวดทรายและโคลนตมที่น้ำพัดพามาด้วยจึงตกจมลงที่ก้นของลำน้ำ เมื่อวันเวลาผ่านไปตะกอนเหล่านั้นก็ทับถมสูงขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นสันทรายตลอดแนวทางยาวของหมู่บ้าน บรรพบุรุษของชาวลาวเวียงจันทน์จึงตั้งบ้านเรือนขึ้นเป็นชุมชนเล็กๆ และเรียกบริเวณนี้ว่า “บ้านหาดสองแคว” ซึ่งหมายถึงหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บริเวณสันทรายหรือหาดทราย ซึ่งเกิดขึ้นจากการกระทำของธารน้ำ(คลองตรอน) ที่ไหลมาพบกับสายน้ำที่ใหญ่กว่า(แม่น้ำน่าน) ที่ได้พัดพาเอากรวดทรายและโคลนตามมาตกตะกอนสะสมกัน จนมีลักษณะเป็นแนวยาวขนานไปกับริมฝั่งแม่น้ำ และบรรพบุรุษชาวลาวเวียงจันทน์บางกลุ่มก็ยังเดินทางเรื่อยขึ้นไปจนถึงเขต บ้านแก่ง และตั้งเป็นชุมชนสร้างบ้านปลูกเรือนตั้งแต่นั้นมา
จากเส้นทางการเดินทางอพยพของบรรพบุรุษชาวลาวเวียงจันทน์กลุ่มนี้ หากคิดเป็นระยะทางจากหมู่บ้านกองโคไปยังหมู่บ้านชาวลาวเวียงกลุ่มต่าง ๆ ที่ตั้งถิ่นฐานตามริมแม่น้ำน่านนั้น ซึ่งประกอบด้วยหมู่บ้านวังสะโม หมู่บ้านหาดสองแคว หมู่บ้านเด่นสำโรง และหมู่บ้านวังแดง ตามลำดับ ซึ่งทางน้ำและทางบกในปัจจุบันแล้วสามารถใช้ระยะเวลาในการเดินทางเพียงไม่ เกิน 1 วันเท่านั้น จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ว่า การอพยพของบรรพบุรุษชาวลาวเวียงจันทร์หมู่บ้านหาดสองแควนั้น น่าจะเกิดจากการขยายตัวของจำนวนประชากรออกไปในพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อบุกเบิก ที่ดินทำกินเป็นของตนเองมากกว่าสาเหตุอื่น