แหล่งเรียนรู้

สารบัญ


แนวคิดในการจัดตั้งแหล่งเรียนรู้

องค์การบริหารส่วนตำบลหาดสองแคว  อำเภอตรอน  จังหวัดอุตรดิตถ์

 

ระบบบริหารจัดการท้องถิ่น

แนวคิดหลัก

องค์การบริหารส่วนตำบลหาดสองแคว มีแนวคิดในการทำให้ประชาชนในตำบลมีสุขภาวะที่ดี มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น คนในตำบลมีอายุยืนยาว ส่วนการบริหารจัดการเน้น “การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม” โดยมีการสนับสนุนให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทุกระดับ ดังผลงานความสำเร็จด้านงานบริหารจัดการ รางวัลธรรมมาภิบาล 6 ปี สิ่งที่ต้องคำนึงเสมอคือ ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมทุกระดับ ฝ่ายบริหารทำหน้าที่ควบคุม ติดตาม ประสานงาน สนับสนุน อำนวยการให้เกิดผลสำเร็จ ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเข้าตรวจสอบการทำงาน มีการนำเสนอผลงานผ่านสื่อทุกรูปแบบ ระดมศักยภาพของชุมชนให้เกิดพลังความศรัทธา ความเชื่อมั่น กับการทำงานร่วมกัน ด้วยความเสียสละ สุจริต ของคณะทำงานที่เกิดจากภาคีหลากหลายภาคส่วน โดยให้ความสำคัญกับการนำหลักวิชาการ เทคโนโลยีที่เหมาะสม มาพัฒนางานขององค์การบริหารส่วนตำบลอย่างต่อเนื่อง โดยมีทุกภาคส่วนและภาคีเครือข่ายร่วมบริหารจัดการ  ซึ่งได้ใช้แผนชุมชนเป็นเครื่องมือในการบริหารพัฒนาท้องถิ่นและสร้างการมีส่วนร่วม โดยยึดหลักความโปร่งใส ตรวจสอบได้ จนกล้าประกาศว่า “อบต.หาดสองแคว เป็นเขตปลอดการทุจริตคอรัปชั่น” ต่อสาธารณชน และได้จัดให้มีการถ่ายทอดการบริหารจัดการที่ดีไปสู่เยาวชนคนรุ่นหลัง เพื่อสร้างจิตสำนึกรักบ้านเกิด หวงแหนทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่ในท้องถิ่นอย่างยั่งยืนยาวนาน และส่งเสริมความรักใคร่ สมัครสมาน สามัคคี สมานฉันท์ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในชาติพันธุ์ของคนในตำบล ซึ่งจะทำให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่ ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมกำหนดแนวทาง ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์ และร่วมติดตามประเมินผล โดยมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาตำบลที่ว่า “ตำบลน่าอยู่ เรียนรู้ร่วมกัน สร้างสรรค์สังคม ชุมชนเข้มแข็ง ร่วมแรงพัฒนา  ประชาชนสุขใจ”

การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ตามรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2550 มาตรา 287 กล่าวว่า “ประชาชนในท้องถิ่นมีสิทธิมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องจัดทำให้มีวิธีการที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม” องค์การบริหารส่วนตำบลหาดสองแคว ให้ความสำคัญกับการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่อง โดยผ่านเวทีประชาคมทุกหมู่บ้าน ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดแนวทางการพัฒนา โดยยึดวิสัยทัศน์ตำบลเป็นหลักและได้ร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์  เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ในการพัฒนาไว้ 6 ยุทธศาสตร์

  • ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ไฟฟ้า น้ำประปา แหล่งน้ำเพื่อการเกษตร การอุปโภค-บริโภค เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน
  • ยุทธศาสตร์การพัฒนาตำบลน่าอยู่ สู่เศรษฐกิจพอเพียง
  • ยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมแห่งความสงบสุข ร่มเย็น มีความมั่งคงในการดำเนินชีวิตอย่างมั่นใจ
  • ยุทธศาสตร์การพัฒนาสังคมแห่งการเรียนรู้ ร่วมด้วยการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
  • ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านการท่องเที่ยว และอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น
  • ยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ให้มีดุลยภาพที่ยั่งยืน


ซึ่งในแต่ละยุทธศาสตร์ได้มีตัวแทนภาคประชาชน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลหาดสองแคว ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ร่วมเป็นคณะทำงาน และได้ขับเคลื่อนการทำงานไปพร้อมกัน ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึงและเป็นธรรมส่งผลให้คนในตำบลเกิดความรักใคร่ สมัครสมาน สามัคคี ซึ่งปัจจุบันตำบลหาดสองแควเป็นพื้นที่ต้นแบบในโครงการส่งเสริมการสร้างระบบบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมระดับจังหวัดโดยคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้รับรางวัล “จังหวัดที่มีความเป็นเลิศในการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม” และองค์การบริหารส่วนตำบลหาดสองแคว ได้รับรางวัลแห่งความเป็นเลิศด้านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม “ภาคประชาชนเข้มแข็ง” จากสถาบันพระปกเกล้า ในปี 2551 และจังหวัดอุตรดิตถ์ได้มอบหมายให้ อบต.หาดสองแคว ขยายผลรูปแบบการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมของภาคประชาชนจังหวัดอุตรดิตถ์ ในปี 2552  และองค์การบริหารส่วนตำบลหาดสองแควยังได้รับรางวัลการบริหารจัดการที่ดี ถึง 6 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2546 ถึง 2552

แผนชุมชน เป็นกลไกในการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และใช้เวทีสัญจรของ อบต.หาดสองแคว ให้กับกลุ่มเยาวชนและภาคประชาชนทุกๆกลุ่ม ได้มีช่องทางเสนอแนะปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการ และได้ให้ประชาชน เยาวชนได้มองถึงสิ่งดีๆ ในหมู่บ้านของตนเองเพื่อให้เกิดสำนึกรักถิ่นฐานบ้านเกิดตนเองมากยิ่งขึ้น

การพัฒนาศักยภาพคนในตำบล มีสุภาษิตกล่าวไว้ว่า “จะปลูกพืชต้องเตรียมดิน จะกินต้องเตรียมอาหาร จะพัฒนาต้องเตรียมคน จะพัฒนาใครเขา ต้องพัฒนาที่ตัวเราเองก่อน” ซึ่งจะเห็นได้ว่าการพัฒนานั้นต้องเริ่มที่ผู้นำก่อน ต้องมีความเสียสละ อดทน มีจิตสำนึก มีคุณธรรม จริยธรรม และต้องไม่คิดเอาผลประโยชน์ใส่ตนเองและพวกพ้อง เมื่อผู้นำเป็นแบบอย่างที่ดี คนที่จะร่วมในการพัฒนาก็จะศรัทธาในการทำงานและสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ร่วมกันได้ มีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึง และได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่มีอยู่ภายในตำบลให้เยาวชนคนรุ่นหลังได้รู้และจะได้สืบทอดเจตนารมณ์ ประเพณี วัฒนธรรม อันดีงามให้คงอยู่สืบไป มีการพัฒนาให้คนในชุมชนได้ศึกษาเล่าเรียนในระดับอุดมศึกษาและในระดับมหาวิทยาลัย โดยองค์การบริหารส่วนตำบลหาดสองแคว ได้สนับสนุนทุนการศึกษาให้กับบุตรหลานในตำบลที่เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยทุกคน นอกจากนั้นอบต.หาดสองแคว ยังได้ให้ความสำคัญกับปูชนียบุคคลในชุมชน ผู้นำ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แกนนำเครือข่าย และประชาชนผู้มีจิตสาธารณะ อบต.หาดสองแคว ได้ยกย่อง เชิดชูเกียรติ คนดีศรีหาดสองแคว ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน อาทิเช่น ผู้ทำคุณประโยชน์ด้านศาสนา ด้านการพัฒนาอาชีพเสริม ด้านอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี ด้านส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ด้านการปกครอง ด้านป้องกันแก้ไขปัญหาสังคม และด้านอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม จนได้รับรางวัล โครงการท้องถิ่น ท้องที่ สามัคคี สมานฉันท์ ร่วมกันพัฒนา ในปี 2552 จากจังหวัดอุตรดิตถ์


ระบบจัดการขยะ

แนวคิดหลัก

สืบเนื่องมาจากตำบลหาดสองแควยังไม่มีการจัดการขยะ และมองเห็นว่าถ้าไม่จัดการขยะอนาคตตำบลจะเป็นตำบลที่ไม่น่าอยู่ อบต.จึงทำความตกลงกับมหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ เพื่อเป็นเครือข่ายในการจัดการขยะร่วมกัน โดยเน้น “การจัดการสิ่งแวดล้อมด้วยตนเอง ส่งเสริมการมีส่วนร่วม เพิ่มมูลค่าของใช้” มีการจัดทำข้อมูลขยะในพื้นที่ นำข้อมูลขยะมาวิเคราะห์พบว่าส่วนใหญ่ย่อยสลายร้อยละ 60 ขายและแปรรูปได้ร้อยละ 30 ร้อยละ 1 จัดการไม่ได้ นำข้อมูลที่ได้นำสู่เวทีประชาคมหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน มีการลงมติให้มีการคัดแยกขยะในครัวเรือน จัดทำผ้าป่าขยะ มีการฝึกอบรมเรื่องของการจัดการขยะให้แก่ประชาชน เช่น การคัดแยกขยะ การทำจุลินทรีย์แห้ง การนำถุงพลาสติกมาใช้ เป็นต้น จากการคัดแยกขยะนำไปสู่การทำปุ๋ยอินทรีย์จากขยะเพื่อใช้ในการเกษตร  และได้เกิดการร่วมกลุ่มของประชาชนในชุมชนรักษ์สิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น

แปลงสาธิตผลผลิตจากการใช้น้ำหมักชีวภาพจากขยะในครัวเรือน ทาง อบต. หาดสองแควยังไม่มีการจัดการขยะ และได้คิดว่าถ้าหากไม่มีการกำจัดขยะในอนาคตจะส่งผลเสียให้กับกับชุมชน  ทาง อบต.หาดสองแคว จึงประสานงานกับทางมหาวิทยาลัย ราชภัฏอุตรดิตถ์เพื่อหาวิธีในการจัดการขยะร่วมกัน และได้มีการจัดการกับสิ่งแวดล้อมด้วยตนเอง และส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมและเป็นการประยุกต์ใช้ทรัพยากรให้เกิดคุณประโยชน์สร้างวิกฤติให้เป็นโอกาสจากขยะในครัวเรือนให้มีคุณค่า เช่น  การคัดแยกขยะในครัวเรือน การทำจุลินทรีแห้ง  และการนำขยะที่เหลือใช้ในครัวเรียนมาทำเป็นปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ

ป้าประทุม มีวังแดง(ป้าสร้อย) ประกอบอาชีพเกษตรกรโดยการใช้สารเคมีจึงทำให้เกิดการแพ้สารเคมี จึงหยุดทำการเกษตร  พ.ศ. 2548 ทาง อบต. หาดสองแควได้มีการแนะนำให้ไปอบรมในเรื่องของการจัดการขยะแบบมีส่วนร่วม ที่ศูนย์เรียนรู้มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ก็เลยเกิดการสนใจ จึงเข้าร่วมอบรมและได้นำแนวทางจากการเข้าร่วมการอบรมมาทดลองทำและมีการรวมกลุ่มผู้ที่ไปทำการอบรม ได้มีการออกทุนคนละ100 บาทในการทดลองทำน้ำหมักชีวภาพจากขยะที่เหลือใช้ในครัวเรือน เช่น เปลือกแตงโม ฟัก ฟักทอง สับประรส ส้ม มะนาว มะกุด ส้มโอ เป็นต้น จากการทดลองทำแล้วไม้มีการแพ้ จึงมีการทำใช้เองในสวนและมีการปลูกพืชผลเพิ่มอีก หลังจากที่ใช้แล้วได้ผลดี  พืชผลอุดมสมบรูณ์ดีและไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และมีผู้บริโภคมาซื้อกันจำนวนมาก เพราะพืชผลที่ปลูกไม่ใช้สารเคมีจึงไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภค  หลังจากนั้นประมาณในปี พ.ศ.2549 ทาง อบต.หาดสองแคว ได้มาติดตามในการเข้าร่วมอบรมการจัดการขยะและดูนำมาขยายผลจึงมาขอความร่วมมือจากคุณป้าประทุม มีวังแดง ให้ข้อมูลในการทำน้ำหมักชีวภาพจากขยะที่เหลือในครัวเรือนทาง อบต.หาดสองแคว จึงขอความอนุเคราะห์ในเรื่องของการเป็นวิทยากรให้ความรู้ในเรื่องของการทำน้ำหมักชีวะภาพจากขยะที่เหลือใช้ในครัวเรือน และให้แปลงเกษตรสวนมะนาว เป็นศูนย์เรียนรู้

กลุ่มจักรยานสานฝันร่วมกับเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อม หมู่ที่ 1 - 7 ตำบลหาดสองแคว กลุ่มจักรยานสานฝันร่วมกับเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อม หมู่ที่ 1-7 ตำบลหาดสองแคว จุดเริ่มต้นของกลุ่มนี้เกิดเมื่อประมาณ  2543  โดยมีกลุ่มเยาวชนรุ่นแรกเรียนรู้ทำปุ๋ยหมักและใช้ปุ๋ยกับการปลูกผักของกลุ่ม โดยแปลงผักตั้งอยู่บริเวณที่ตั้งของอบต.ปัจจุบัน โดยเมื่อปลูกผักได้ผลผลิตแล้วจะนำไปขายแก่คนในตำบลและหมู่บ้านโดยเด็กๆ จะปั่นจักรยานไปขาย และขณะปั่นไปตามถนนมองเห็นขยะที่เรี่ยราดข้างทางและรู้สึกไม่อยากให้คนอื่นๆมองว่าหมู่บ้านไม่มีระเบียบ สกปรก จึงเริ่มการเก็บขยะไปพร้อมๆ กับการขายผัก และเยาวชนก็ได้ชักชวนรุ่นน้องเข้ากลุ่ม ต่อมาเมื่อ 2546 พื้นที่แปลงผักกลายเป็นพื้นที่ตั้ง อบต. กลุ่มจึงต้องเลิกปลูกผัก แต่ก็ยังปั่นจักรยานเก็บขยะ โดยเก็บขยะทุกหมู่และในขณะเดียวกัน อบต. ไม่มีงบประมาณซื้อรถขยะ จึงได้ระดมความคิดกันระหว่างคนในพื้นที่ ตกลงกันว่าจะจัดการขยะกันเองและได้ทำ MOU กับมหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อเข้ามาสอนการจัดการขยะ  สอนเยาวชนคัดแยกขยะ ในปี  2548 กำนันหมู่ 3 เห็นว่าหมู่ 2 ก็ทำได้ยังได้กระตุ้นให้เยาวชนเข้าร่วมกลุ่มและเก็บขยะของหมู่บ้านตนเอง และได้แพร่ขยายไปหมู่ที่เหลือทั้งหมด ปัจจุบันเด็กเยาวชนยังปั่นจักรยานเก็บขยะและยังบำรุงดูแลต้นไม้ข้างทางด้วย การขายขยะจะทำการขายกับธนาคารขยะในหมู่บ้านโดยจะบันทึกรายได้จากการขายและจะจ่ายเงินปีละครั้ง กลุ่มเยาวชนเองก็มีการผลัดรุ่นใหม่ขึ้นมาจัดการโดยกลุ่มเด็กที่ขึ้นมาใหม่ก็คือรุ่นน้องที่เห็นรุ่นพี่ทำและทำพร้อมพี่ รุ่นพี่เองก็ยังคอยดูแลให้คำแนะนำแก่น้องๆ รุ่นพี่หรือผู้ใหญ่ที่คอยดูแลจะคอยระวังอันตรายจากภัยจราจร ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ เด็กมีสำนึกรักษ์บ้านเกิด อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ชุมชนสะอาด ร่างกายแข็งแรง เด็กๆมีพื้นที่เรียนรู้และสังสรรค์ทางสังคม และสมาชิกกลุ่มยังเป็นคนสำคัญของสภาเด็กซึ่งเป็นองค์กรที่จะสะท้อนปัญหาความต้องการของเด็กในการร่วมพัฒนาท้องถิ่น

ธนาคารขยะ ในปี 2552 ได้เกิดธนาคารขยะประจำหมู่บ้าน เพื่อต้องการให้เด็กมีการเห็นคุณค่าของขยะ เกิดรายได้ มีการออม จึงมีการจัดตั้งธนาคารขยะขึ้นเพื่อให้เด็กเก็บขยะมาฝาก และมีการบันทึก จำนวนขยะ เมื่อสิ้นปีให้เด็กสามารถเบิกเงินจากการเก็บขยะไปใช้ได้ กลุ่มเยาวชนเองก็มีการผลัดรุ่นใหม่ขึ้นมาจัดการโดยกลุ่มเด็กที่ขึ้นมาใหม่ก็คือรุ่นน้องที่เห็นรุ่นพี่ทำและทำพร้อมพี่ รุ่นพี่เองก็ยังคอยดูแลให้คำแนะนำแก่น้องๆ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ เด็กมีสำนึกรักษ์บ้านเกิด อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ชุมชนสะอาด ร่างกายแข็งแรง เด็กๆมีพื้นที่เรียนรู้และสังสรรค์ทางสังคม และสมาชิกกลุ่มยังเป็นคนสำคัญของสภาเด็กซึ่งเป็นองค์กรที่จะสะท้อนปัญหาความต้องการของเด็กในการร่วมพัฒนาท้องถิ่น


ระบบเกษตรเพื่อสุขภาวะ

แนวคิดหลัก

ตำบลหาดสองแควเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 80 ประกอบอาชีพทำนา เกษตรกรต้องเผชิญกับภัยแล้ง ใช้สารเคมีในการเร่งผลผลิตมากทำให้ต้นทุนในการผลิตสูง ดินเสื่อม ผลผลิตไม่ได้ราคา เกษตรกรในตำบลจึงรวมกลุ่มกันเพื่อแก้ปัญหาโดยเน้น “ลดการใช้สารเคมี อยู่อย่างพอเพียง ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้” โดยใช้ทรัพยากรในพื้นที่เพื่อแก้ปัญหา  ผ่านการจัดการด้วยเวทีประชาคม บนฐานคิดของการนำใช้ความรู้ควบคู่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การทำแปลงนาสาธิตข้าวเกษตรอินทรีย์ การทำปุ๋ยอินทรีย์ การรวมกลุ่มปลูกข้าวอินทรีย์เพื่อการบริโภคและการจำหน่าย กลุ่มสถานีสูบน้ำบ้านเด่นสำโรง เป็นต้น  โดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองได้

กลุ่มปุ๋ยอินทรีย์ เกษตรกร ต้องการลดการใช้ปุ๋ยเคมี และลดต้นทุนการซื้อปุ๋ยอินทรีย์ จึงได้รวมกลุ่มกันคิดและลงมือช่วยกันทำปุ๋ยอินทรีย์ขึ้นใช้เอง มีการนำใช้ในแปลงของตนเอง เช่น แปลงปลูกแก้วมังกร สวนผลไม้ปลอดสารพิษ เป็นต้น ทำให้ดินมีสภาพดี ดินโปร่งร่วนซุย ลดสารเคมีตกค้างในดินและปลอดภัยสำหรับเกษตรกร และขยายไปยังเกษตรกรหมู่บ้านอื่นๆ เช่น กลุ่มปุ๋ยอินทรีย์ 1 ปัจจุบันองค์การบริหารส่วนตำบลหาดสองแคว ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือสนับสนุนด้านการส่งเสริมความรู้ และดำเนินการเผยแพร่ความรู้ จนทำให้ทุกหมู่บ้านมีโรงปุ๋ยครบทุกหมู่บ้าน

กลุ่มข้าวอินทรีย์ตำบลหาดสองแคว เริ่มก่อตั้งเมื่อ ปี พ.ศ. 2553 องค์การบริหารส่วนตำบลหาดสองแควมีแนวคิดให้ประชาชนในตำบลหันมาปลูกข้าวอินทรีย์เพื่อผลิตข้าวปลอดสารให้คนในตำบลได้รับประทาน และเพื่อลดการใช้สารเคมี ต่างๆที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ กับเกษตรกรเอง  ผู้บริโภค ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ในแปลงนา และเป็นการลดต้นทุนในการผลิตทางการเกษตรทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการตั้งกลุ่มข้าวอินทรีย์ตำบลหาดสองแควขึ้นโดยมีสมาชิก 23 คน มีการอบรมเรื่องของการปลูกข้าวอินทรีย์ และจัดทำแปลงสาธิตปลูกข้าวอินทรีย์ เพื่อให้สมาชิกได้มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้

กลุ่มเกษตรกรทำนาหาดสองแคว จากการที่เกษตรกรมีน้ำในการทำนาไม่เพียงพอ ทำให้ผลผลิตตกต่ำ จึงได้รวมกลุ่มเกษตรกรไปขอความอนุเคราะห์จากกรมชลประทาน ได้สถานีสูบน้ำพลังงานไฟฟ้า 1 แห่ง สูบน้ำจากแม่น้ำน่าน และคลองส่งน้ำยาว 4 กิโลเมตร และได้มีการก่อตั้งเป็นกองทุนหมุนเวียนในเรื่องของปุ๋ยต่างๆที่จะใช้ในการทำนาเพื่อให้สมาชิกได้กู้ยืมไปลงทุน แล้วส่งคืนหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้จัดทำลานตากข้าวพร้อมตาชั่งใช้เป็นจุดศูนย์กลางให้พ่อค้ามารับซื้อข้าว โดยใช้ท่าข้าวของกลุ่มเป็นศูนย์กลางการรับซื้อและเก็บเงินกับพ่อค้ารับซื้อตันละ 35 บาท

กลุ่มสูบน้ำบ้านเด่นสำโรง เนื่องจากมีการถ่ายโอนเครื่องสูบน้ำพลังงานให้ อบต.ดูแล โดยแยกออกจากกลุ่มเกษตรกรทำนาบ้านหาดสองแคว หมู่ที่ 4 เพื่อทำงานให้เป็นสัดส่วน และการบริหารงานที่รวดเร็วยิ่งขึ้นซึ่งแยก โดยใช้ฐานสมาชิกกลุ่มเดียวกันกับกลุ่มเกษตรกรทำนาบ้านหาดสองแคว หมู่ที่ 4  มีการสมัครเป็นสมาชิกหุ้นละ 20 บาท โดยทางกลุ่มมีการบริหารจัดการในรูปแบบการแต่งตั้งคณะกรรมการในการบริหารจัดการจำนวน 9 คนโดย เลือกจาก อบต. 5 คน และจากสมาชิกกลุ่มอีก 4 คน  รวม 9 คน มีกฎระเบียบในการจ่ายค่าบริการใช้น้ำไร่ละ 150 บาทต่อไร่ ส่วนผู้ที่สูบน้ำต่อจากคลองคิด ไร่ 100 บาท ตลอดปี

ศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติเชิงท่องเที่ยวและอนุรักษ์ เกิดปี 2551 จากแนวคิดการบริหารงานของผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หมู่ 3 เห็นว่าประชาชนในตำบลประกอบอาชีพเกษตรกรรมจึงได้มีการจัดทำฐานการเรียนรู้สาธิตทดลองเกษตรกรรมธรรมชาติ 5 ฐานการเรียนรู้ ได้แก่ 1.)นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ 2.)การจัดการพื้นที่ทำกินตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 3.)การจัดการความรู้เรื่องปุ๋ย 4.)การจัดการความรู้เรื่องดิน 5.)อาชีพเฉพาะ โดยมีวิทยากรมาจากปราชญ์ชาวบ้าน มีประชาชนในตำบลเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในศูนย์


ระบบภูมิปัญญาท้องถิ่น

แนวคิดหลัก

องค์การบริหารส่วนตำบลหาดสองแคว ได้เล็งเห็นความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่มีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์และแหล่งวัฒนธรรมที่บ่งบอกถึงรากเหง้าของชุมชน และกิจกรรมทางประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของคนในตำบล จึงเกิดการรวมกลุ่มรวมตัวของแกนนำในชุมชนเพื่อร่วมอนุรักษ์และถ่ายทอดสู่เยาวชนจากรุ่นสู่รุ่น รวมทั้งใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นทุนทางสังคมที่สำคัญช่วยในการพัฒนาตำบล การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และความบันเทิงใจ โดยยึดหลักคุณธรรมของศาสนา พัฒนาอย่างยั่งยืนกับผู้คนทุกเพศทุกวัย ให้เกิดความรู้ ความภาคภูมิใจ ดำรงตนอยู่ในชุมชนอย่างมีความสุขอย่างยั่งยืน เช่น แหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ ความรู้ด้านการจักสาน หมอลำกลอนประยุกต์ การทำขนมไทยสูตรโบราณ กลุ่มที่ทำการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่น

พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านชุมชนตำบลหาดสองแคว ประชาชนในตำบลหาดสองแควร่วมกับวัดหาดสองแคว ได้เล็งเห็นถึงปัญหาการขาดการอนุรักษ์ภูมิปัญญา วัสดุอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในการประกอบอาชีพหรือในชีวิตประจำวันตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน  เพื่อให้เป็นแหล่งรวบรวมโบราณวัตถุไว้มิให้สูญหายไป และให้คนในชุมชนเกิดจิตสำนึกรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงได้มีการประชุมปรึกษาหารือกลุ่มแกนนำในชุมชนได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้น เพื่อให้เป็นแหล่งองค์ความรู้ในเรื่องของวิวัฒนาการการเปลี่ยนทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา และนอกจากนั้นยังเป็นการจัดการทรัพยากรที่มีความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ คนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ คนกับสังคมและคนกับแหล่งเรียนรู้ กล่าวคือศูนย์บูรณาการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดหาดสองแคว  อำเภอตรอน  จังหวัดอุตรดิตถ์

กลุ่มจักสานและผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน หมู่ที่  7 กลุ่มจักสานไม้ไผ่เกิดจากผู้สูงอายุว่างงาน และเห็นว่าในท้องถิ่นมีไม้ไผ่ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ จึงมีการจักสานผลิตภัณฑ์พื้นบ้านขึ้น และมีการจักสานกันมาอยู่เรื่อยๆ แต่ยังไม่มีการรวมกลุ่มกัน  กลุ่มแกนนำในชุมชนเห็นความสำคัญจึงได้มีการประชุมปรึกษาหารือกันและชวนกันรวมกลุ่มจักสานผลิตภัณฑ์พื้นบ้านเพื่อที่จะหารายได้เสริม  จึงได้มีการรวมกลุ่มกันในปี 2547 โดย นางพยุง สามศรีศร เป็นหัวหน้ากลุ่ม มีจำนวนสมาชิก 6 คน โดยสมาชิกจะมีการร่วมกันจักสานสินค้าจากไม้ไผ่เป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตด้านการประกอบอาชีพ การทำมาหากิน เช่น ตะกร้า ชะลอม ไซ ลอบ ตะแกรง ซุ่มไก่ กระชังใส่ปลาฯลฯ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่อยู่ในตำบลจึงควรอนุรักษ์ให้คงอยู่ และสามารถใช้เป็นอาชีพเสริมได้ด้วย ซึ่งมีการกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ของตำบล ซึ่งการอนุรักษ์ฟื้นฟูได้รับการหนุนเสริมจาก อบต.หาดสองแคว และยังเป็นการส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ส่งเสริมความรักความสามัคคีในกลุ่มด้วย

กลุ่มจักสานและผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน หมู่ที่ 2 กลุ่มจักสานหมู่ 2 เกิดแรงบันดาลใจในการตั้งกลุ่ม ซึ่งเห็นว่าคนในชุมชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการว่างงานจากการการประกอบอาชีพหลัก จึงคิดตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อให้คนในชุมชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการมีรายได้เสริมจากการประกอบอาชีพหลักและให้ผู้สูงอายุ และผู้พิการได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ เพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์ภูมิปัญญาของตำบล และนำสู่การถ่ายทอดให้แก่เด็กและเยาวชน กลุ่มจักสานมีสมาชิกทั้งหมด 20 คน รวมกันทำตะกร้า ชะลอม ลอก โดยมีการสนับสนุนของ อบต. ทั้งนี้ในการรวมกลุ่มกันทำให้มีอาชีพเสริม และให้ครอบครัวของสมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น  สร้างความสามัคคีความมั่นคงให้กับคนในชุมชนอีกด้วย

กลุ่มขนมไทยสูตรโบราณ กลุ่มขนมไทยสูตรโบราณเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มสตรีแม่บ้านในชุมชน ที่ว่างจากการประกอบอาชีพหลัก คือการประกอบอาชีพเกษตรกรรม จึงรวมกลุ่มกันทำขนมและอาหารจากการทำกินกันในครอบครัวและแบ่งปันให้เพื่อนบ้านมีการแลกเปลี่ยนกันเกี่ยวกับการทำขนม และเกิดการรวมกลุ่มเพื่อทำขนมและอาหาร ต่อมามีนโยบายกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หน่วยที่ 72 สนับสนุนกลุ่มในการประกอบอาชีพเสริม  จึงมีการประชุมกลุ่มแกนนำในชุมชน ชักชวนผู้สนใจเข้าร่วมกลุ่ม และพิจารณาคัดเลือกกลุ่มเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หน่วยที่ 72  จึงเกิดกลุ่มขนมไทยสูตรโบราณ และนำสู่การถ่ายทอดให้แก่เด็กและเยาวชน  จึงเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อเด็กและเยาวชนในตำบลด้วย ขนมไทยสูตรโบราณไม่ค่อยมีใครทำและไม่มีผู้สืบทอด ทางกลุ่มจึงมีการพัฒนาสูตรขนมไทยสูตรโบราณ และทำขนมไทยสูตรโบราณจำหน่ายโดยการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นทำให้เกิดการอนุรักษ์และสืบทอดการทำขนมไทยสูตรโบราณ เกิดศูนย์การเรียนรู้แก่คนรุ่นหลังและสร้างรายได้เสริม  ซึ่งปัจจุบันทางกลุ่มได้จัดตั้งเป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้ในเรื่องขนมไทยสูตรโบราณที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ได้


ระบบสุขภาพชุมชนและอาสาสมัคร

แนวคิดหลัก

องค์การบริหารส่วนตำบลหาดสองแคว ได้กำหนดนโยบายการพัฒนาสาธารณสุขและส่งเสริมคุณภาพชีวิตครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย เพื่อต้องการให้ประชาชนในตำบลหาดสองแคว เกิดความเสมอภาค เท่าเทียมกันและเข้าถึงบริการทางด้านสุขภาพ โดยเน้นกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนายกระดับงานด้านการจัดการสุขภาวะชุมชนแบบองค์รวม มีอาสาสมัครที่มีจิตอาสาเข้ามาดูแล เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขตำบล, อาสาสมัครสาธารณสุขน้อย โดยมีกองทุนสุขภาพชุมชนตำบลหาดสองแควเป็นกลไกในการขับเคลื่อนให้เกิดการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคีท้องถิ่น ท้องที่ ภาครัฐ ภาคประชาชน ช่วยดูแลสุขภาพประชาชนในตำบลหาดสองแคว

กองทุนสุขภาพชุมชนตำบลหาดสองแคว องค์การบริหารส่วนตำบลหาดสองแควได้เล็งเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพและการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของคนในชุมชน ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2549 จึงได้เข้าร่วมโครงการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เพื่อจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพในตำบลหาดสองแคว และได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบล ในปี 2550 มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกองทุน, คณะอนุกรรมการกองทุนเพื่อจัดกิจกรรมเน้นการส่งเสริมและป้องกันโรคให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย แต่ประชาชนยังไม่เข้าใจในหลักการทำงานของโครงการ ทางกองทุนหลักประกันสุขภาพในตำบลหาดสองแคว จึงจัดให้มีการประชาสัมพันธ์โครงการพร้อมโครงการ อบต.เคลื่อนที่ จึงเกิดโครงการต่างๆ ขึ้นในปีนี้ โดยให้ประชาชนเขียนและทำโครงการเพื่อสนับสนุนกิจกรรมที่ต้องการทำในกลุ่มจากการสนับสนุนใน 4 แผนงาน ประกอบด้วย การจัดการบริการสุขภาพตามชุดสิทธิประโยชน์, การสนับสนุนงบประมาณสาธารณสุขในชุมชนท้องถิ่น, การสร้างสุขภาพโดยประชาชนและชุมชนท้องถิ่น, การบริหารจัดการกองทุน/พัฒนาระบบบริหารจัดการกองทุน พร้อมกับการติดตามของคณะกรรมการ ซึ่งโครงการที่ได้รับการอนุมัติจะต้องมีการทำ MOU(ให้ค่าดำเนินงาน 50%) หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมมีการนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการ(จ่ายค่าดำเนินการ 50%) ต่อมาประชาชนเห็นถึงความสำคัญและต้องการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือชุมชน จึงได้ทำประชาคมเกิดเป็นการจ่ายเงินสวัสดิการจากประชาชน 9 บาทต่อปี ในปี 2552 ประชาชนที่มีความเชื่อเกี่ยวกับการอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับ ได้นำเงินเข้าสมทบกองทุนหลักประกันสุขภาพในตำบล เมื่อมีผู้เสียชีวิต และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “กองทุนสุขภาพชุมชนตำบลหาดสองแคว” โดยปี 2553 มีโครงการที่ได้รับอนุมัติและดำเนินการแล้ว เช่น โครงการสวัสดิการหญิงตั้งท้องรับน้องสู่ขวัญ โดยได้ดูแลหญิงตั้งท้องตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนกระทั่งคลอดให้มีสุขภาพที่ดีตั้งแต่แรกเกิด และมีการดูแลให้ความรู้เบื้องต้นกับประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่มีจุดเสี่ยงโดยมีทีมงานอาสาสมัครแต่ละหมู่บ้านให้ความรู้พร้อมทั้งแนะนำ เป็นต้น

กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.) กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขเกิดจากคนในชุมชนเข้าถึงการบริการของอนามัย และโรงพยาบาลน้อยจึงทำให้ผู้ที่มีจิตอาสาเข้ามาดูแลเรื่องสุขภาพอนามัยของคนในชุมชนเบื้องต้น ทำให้เกิดกลุ่ม อสม.ขึ้น ที่มาของกลุ่ม อสม.เริ่มจากในปี พ.ศ. 2527 ได้มีนโยบายจากกระทรวงสาธาณสุขเข้ามาและให้ก่อตั้งผู้สื่อข่าวสาธารณสุข(ผสส.)ขึ้น เพื่อดูแลในเรื่องสาธารณสุข ต่อมาปี 2535 กระทรวงสาธารณสุขได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างและเปลี่ยนชื่อเป็น “อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.)” ซึ่งเน้นเรื่องเฝ้าระวังและป้องกันการเกิดโรค โดยทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข มีคณะกรรมการที่มาจากทุกหมู่บ้านซึ่ง อสม. ส่วนใหญ่มาจากจิตอาสาและเห็นตัวอย่างจากผู้นำในชุมชนเป็นตัวกระตุ้นในการสร้างจิตอาสาขึ้นในชุมชน เช่น นายกองค์การบริหารส่วนตำบล,รองนายก,ผู้นำชุมชน เคยทำงานอาสาหรือเป็น อสม. ต่อมาได้จัดตั้งชมรม อสม.ประจำตำบลขึ้น เพื่อให้มีการทำงานในภาพรวมของตำบลและจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชมรม อสม. เพื่อเป็นกองทุนในการช่วยเหลือดูแล อสม. และคนในครอบครัว โดยการเก็บค่าสมาชิกแรกเข้า 15 บาทต่อคนและเก็บ อสม. 50 บาทต่อปี เก็บจากผู้ขาดประชุมครั้งละ 20 บาท เข้าสมทบชมรมเพื่อจัดสวัสดิการกรณี อสม. เสียชีวิต ต่อมาปี 2550 อสม. ได้ร่วมกันเขียนโครงการเพื่อของบประมาณจากกองทุนสุขภาพชุมชนหลายโครงการและดำเนินการโดยกลุ่ม อสม. ทำให้เกิดความภาคภูมิใจแก่กลุ่ม ในปัจจุบันตำบลหาดสองแคว มี อสม. จำนวน 100 คนดูแลรับผิดชอบ 1 คน ต่อ 10-15 หลังคาเรือน มีการประชุมกันทุกๆเดือน พร้อมกับสร้างอาสาสมัครสาธารณสุขน้อย(อสม. น้อย) แบบขยายผล โดยผู้ที่เป็น อสม. จะต้องนำลูกหลานของตนมาเข้าร่วมทำกิจกรรมหรือเป็นผู้ติดตามในการทำงานเพื่อการสืบทอดและหนุนเสริมการทำงานให้กับ อสม. เป็นการสร้างจิตอาสาให้แก่เด็กและเยาวชน

ศูนย์พัฒนาครอบครัวชุมชนตำบลหาดสองแคว เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเฝ้าระวัง ป้องกัน แก้ไข ส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่ครอบครัว ให้คำแนะนำ และเป็นตัวแทนเครือข่ายครอบครัว ประกอบกับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ต้องการสร้างศูนย์พัฒนาครอบครัวให้เกิดในตำบล จึงจัดตั้งศูนย์พัฒนาครอบครัวตำบลหาดสองแควขึ้นในปี 2547 โดยมี นางบุญนาค เอกา เป็นประธานในการสร้างเครือข่ายระดับหมู่บ้าน และมีการบริหารจัดการในรูปของคณะทำงานศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนซึ่งประกอบด้วยตัวแทน /องค์กร /กลุ่มในชุมชน ต่อมาปี 2550 ได้ถ่ายโอนงานมาให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลหาดสองแควรับผิดชอบ จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการระดับตำบล 21 คน โดยมีนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นประธาน, คณะกรรมการระดับหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 10 คน(ทั้งหมด 7หมู่ เท่ากับ 70 คน) แต่งตั้งให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นประธานระดับหมู่บ้าน รวมคณะกรรมการศูนย์พัฒนาครอบครัวชุมชนองค์การบริหารส่วนตำบลหาดสองแคว  จำนวน 91 คน และดูแลครอบคลุมทั้ง 1,121 ครัวเรือน โดยมีที่ทำการอยู่ที่องค์การบริหารส่วนตำบลหาดสองแคว ผลงานเด่นคือ เป็นต้นแบบเฉลิมพระเกียรติร่วมกับที่ทำงานร่วมกับอบต. ร่วมกันทำกิจกรรม


ระบบองค์กรการเงิน

แนวคิดหลัก

ประชาชนในองค์การบริหารส่วนตำบลหาดสองแคว ส่วนใหญ่ยังขาดแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพ แต่เดิมการกู้เงินเพื่อประกอบอาชีพโดยส่วนใหญ่ยังเป็นการกู้เงินนอกระบบ อีกทั้งในบางครั้งประชาชนที่มีฐานะยากจนก็จะมีความยากลำบากในการกู้ยืมเงินอันเนื่องมาจากไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน จากเหตุการณ์ดังกล่าวจึงได้มีแนวคิดในการจัดตั้งกลุ่มซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ เช่น กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กลุ่มกองทุนเงินล้าน กองทุนสวัสดิการชุมชน เป็นต้น แต่ทั้งนี้ได้มีหลักคิดคือการให้มีแหล่งเงินทุนของชุมชนเองเพื่อใช้ในการกู้ยืม การให้ประชาชนรู้จักการออมโดยการระดมทุนด้วยการฝากหุ้นแบบสัจจะออมทรัพย์ รวมถึงมีการจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิก ตั้งแต่ในครรภ์จนกระทั่งเสียชีวิตโดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน นั่นคือ การบริหารจัดการโดยคนในชุมชนโดยเน้นความซื่อสัตย์และโปร่งใส การสอบถามความเห็นของชาวบ้านในหมู่บ้านกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบหรือการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ทั้งนี้จากการดำเนินงานของกลุ่มได้เป็นการส่งเสริมอาชีพและกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชน อีกทั้งยังทำให้ประชาชนไม่เป็นหนี้นอกระบบ ไม่ถูกเอาเปรียบโดยต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงๆ ต่อไป

กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการประกอบอาชีพ หมู่ที่ 3 กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการประกอบอาชีพ เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มแม่บ้านที่ต้องการสร้างนิสัยการออม และชาวบ้านประสบปัญหา ต้นทุนการผลิตสูง ราคาผลผลิตต่ำ พืชผลทางการเกษตรเสียหาย  เกิดจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ จึงเกิดปัญหาหนี้นอกระบบ ต่อมาสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์ฯ ได้ทำประชาคมร่วมกันเสนอให้สมาชิกสามารถกู้ยืมเงินเพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น ลงทุนเพื่อทำการเกษตร ลงทุนประกอบอาชีพอิสระ  ฯลฯ  และมีการจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนเสียชีวิต โดยดูแลให้แม่ที่ตั้งครรภ์ได้บริโภคไข่เดือนละ 1 แผงต่อเดือนจนกว่าจะคลอด เด็กเกิดใหม่จัดของใช้เด็กไปให้ เสียชีวิตจัดพวงหรีดและร่วมเป็นเจ้าภาพสวดพระอภิธรรม 1 คืน ก่อให้เกิดความสัมพันธ์มิตรไมตรีที่ดีขึ้นของคนในชุมชน รู้สึกมั่นคงมีแหล่งเงินกู้ฉุกเฉิน เช่น กรณีเจ็บป่วย การศึกษา เสียชีวิต ฯลฯ ซึ่งเป็นกลุ่มประชาชนในหมู่บ้านได้เห็นความสำคัญและสมัครเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้นจากเดิมมาก มีสมาชิกปัจจุบันจำนวน 225 คน มีเงินทุนหมุนเวียน 2,701,940 บาท รวมทั้งชุมชนไม่ต้องพึ่งพาหน่วยงานอื่น

กลุ่มสัจจะออมทรัพย์เพื่อการผลิต หมู่ที่ 2 กลุ่มสัจจะออมทรัพย์เพื่อการผลิต เกิดการรวมตัวของกลุ่มแม่บ้านที่ต้องการสร้างนิสัยการออม โดยการฝากเงินในรูปแบบของการออมทรัพย์ สมาชิกสามารถกู้ยืมเงินเพื่อนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น ลงทุนเพื่อทำการเกษตร ลงทุนประกอบอาชีพอิสระ ค้าขาย ฯลฯ มีการปันผล กู้ยืมเงิน และช่วยเหลือกิจกรรมในกลุ่ม ทำให้คนในชุมชนสามารถช่วยเหลือเกื้อกูลกัน พึ่งพาตนเองเพื่อสร้างหลักประกันของคนที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย เกิดความสัมพันธ์มิตรไมตรีที่ดีขึ้นของคนในชุน รู้สึกมั่นคงมีแหล่งเงินกู้ฉุกเฉิน เช่น กรณีเจ็บป่วย การศึกษา การเสียชีวิต ฯลฯ


ระบบเศรษฐกิจชุมชน

แนวคิดหลัก

องค์การบริหารส่วนตำบลหาดสองแคว มีแนวคิดให้คนชุมชนมีการรวมกลุ่มกัน ใช้ทรัพยากรและภูมิปัญญาในการแก้ปัญหาแบบพึ่งตนเอง เพื่อประกอบอาชีพในลักษณะเดียวกันที่เข้มแข็ง เช่น กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร กลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ กลุ่มเกษตรกรทำนา กลุ่มแปรรูปอาหาร กลุ่มปุ๋ยชีวภาพ และกลุ่มเกษตรกรปลูกข้าว สีข้าว เป็นต้นโดยมีองค์การบริหารส่วนตำบลหาดสองแคว เป็นพี่เลี้ยงให้การสนับสนุน ส่งผลให้เกิดการพัฒนาอาชีพ รายได้ที่มั่นคง ช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน การว่างงาน โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

กลุ่มแม่บ้านเกษตรหมู่ที่ 1 การจัดตั้งกลุ่มมีแนวคิดมาจากผลผลิตทางการเกษตรมีราคาตกต่ำ ไม่มีตลาดรับซื้อ มีรายได้น้อยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ประกอบกับป้าสาลี่ ธีระแนว ประธานกลุ่ม ที่ได้แนวคิดมาจากรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับการทำผลิตภัณฑ์แปรรูปจากกล้วย จึงลองหัดทำแล้วนำมาประยุกต์เป็นสูตรของตนเอง จึงมีการรับสมัครสมาชิกจากกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรที่ว่างงานอยากมีรายได้เสริมมาทำงานร่วมกัน มีการแบ่งหน้าที่ในการทำงานช่วยกันทำ เข้าใจกันภายในกลุ่มและจึงมีการเข้ามาสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ในเรื่องงบทุน อุปกรณ์และทั้งยังมีการจัดฝึกอบรมให้ความรู้ด้านต่างๆ ทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ มีการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดีพร้อมทั้งยังจัดตั้งเป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นให้ผู้สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรหมู่ที่ 2 การจัดตั้งกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรหมู่ที่ 2 มีแนวคิดในจัดตั้งเพื่อสร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มแม่บ้านและคนในชุมชนโดยจะใช้ทรัพยากรหรือผลผลิตในชุมชนที่มีอยู่มากและราคาที่ตกต่ำ เช่น ส้มโอ กล้วย  พริก มะขาม ฯลฯ โดยใช้ภูมิปัญญาที่มีมาประกอบกับการผลิต มีการพัฒนาจนผลิตภัณฑ์ได้คุณภาพและเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ได้รับรางวัล สินค้า OTOP ระดับ 4 ดาว มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ปัจจุบันได้พัฒนาคิดค้นผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย เช่น กล้วยกวน มะขามแก้ว งาดำตัด น้ำพริกปลาย่าง น้ำพริกกลางดง น้ำพริกตาแดง น้ำพริกแมงดา น้ำพริกนรก ฯลฯ การรวมกลุ่มกันดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีให้ผู้สนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ได้

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแหลมคูณก้าวหน้า กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรแหลมคูณก้าวหน้ามีแนวคิดที่ต้องการให้ชาวบ้านในหมู่บ้านที่ส่วนมากมีอาชีพเป็นเกษตรกร อยากให้มีรายได้เสริมจากอาชีพหลักที่ทำอยู่ ใช้เวลาว่างจากงานหลักให้เกิดประโยชน์สูงสุดประกอบกับทำเกษตรแล้วผลผลิตทางการเกษตรของชาวบ้านก็มีราคาที่ตกต่ำ ไม่มีตลาดรองรับและมีเป็นจำนวนที่ค่อนค้างมาก จึงมีการคิดรวมกลุ่มกันขึ้นเพื่อนำผลผลิตที่มีอยู่มาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตทางการเกษตร มีการศึกษาเรียนรู้หาความรู้เพิ่มเติมในการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร จึงทำให้มีการเข้ามาสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆของรัฐในเรื่องเงินทุนจัดซื้ออุปกรณ์และจัดฝึกอบรมให้ความรู้การแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทำให้กลุ่มได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพปลอดภัยและราคาย่อมเยา เน้นการใช้ผลผลิตที่มีอยู่ในชุมชน โดยผลิตภัณฑ์ของเราก็จะใช้ภูมิปัญญาเดิมที่มีอยู่มาใช้ประกอบในการผลิตด้วย ได้แก่ น้ำพริกปลาย่าง น้ำพริกกลางดง น้ำพริกตาแดง น้ำพริกแมงดา น้ำพริกนรก เต้าเจี้ยว ชี้อิ๋วขาว มะม่วงแผ่น  สมุนไพรผงชงดื่ม ขิงผง มะตูม ดอกคำฝอย ตะไคร้ผง เก๊กฮวย เห็ดหลินจือชนิดผง รังจืดชนิดผง ฟ้าทะลายโจร หญ้าหนวดแมวผง หญ้าปักกิ่งผง ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเราจะพัฒนาตามข้อมูลความต้องการของลูกค้าจนสินค้าของกลุ่มได้รับมาตรฐานสินค้าระดับ 4 ดาว  มีตลาดรองรับที่แน่นอนสามารถยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของกลุ่มสมาชิก สร้างงานสร้างรายได้ให้กลุ่มสมาชิกมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

กลุ่มจักสานจากผักตบชวา หมู่ที่ 6 แนวคิดการจัดตั้งกลุ่มเกิดจากคนในชุมชนส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง มีอาชีพรับจ้าง รายได้ไม่แน่นอน ประสบปัญหาหนี้สิน ประกอบกับพื้นที่หมู่ที่ 6 นั้นเป็นพื้นที่แหล่งน้ำ ธรรมชาติซึ่งมีผักตบชวา ไมยราบยักษ์ ขึ้นเป็นจำนวนมากและคนในชุมชนก็มีภูมิปัญญาด้านหัตถกรรมอยู่แล้วจึงได้นำทรัพยากรที่มีในท้องถิ่นมาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ โดยมีการนำผักตบชวามาทำเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบต่างๆ เช่น กระเป๋า, กระเช้า เป็นต้น จึงเกิดการชักชวนกันจัดตั้งเป็นกลุ่มขึ้นเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผักตบชวาที่คนอื่นมองแล้วอาจไร้ประโยชน์ มีการส่งเสริมพัฒนารูปแบบโดยศึกษาดูงานและมีการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น อบต. พัฒนาสังคมเป็นต้น

กลุ่มโรงสีข้าวชุมชน แนวคิดการก่อตั้งเกิดจากต้องการช่วยเหลือคนในที่ส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นเกษตรกรทำนาแต่ประสบปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง เกษตรขายข้าวหลังเก็บเกี่ยวหมดต้องซื้อข้าวสารตามตลาดมารับประทาน นอกจากนี้เกษตรกรบางคนที่เก็บข้าวไว้สีกินเองก็ยังถูกเอาเปรียบจากโรงสีเอกชนที่อยู่ในตำบลและนอกตำบลโดยคิดค่าบริการที่แพง ด้วยเหตุผลดังกล่าวเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจึงได้มีการรวมตัวกันจัดตั้งโรงสีข้าวชุมชนให้บริการแก่คนสมาชิกและในชุมชนมาแปรรูปข้าวเพื่อจำหน่ายเป็นข้าวสารและเอาไว้กินเอง มีการพัฒนาให้เป็นโรงสีข้าวกล้องเพื่อแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวกล้องจำหน่ายเพิ่มมูลค่าได้ โดยมีหน่วยงานท้องถิ่น(อบต.) ที่ได้เข้ามาสนับสนุนงบประมาณ

โฮมสเตย์บ้านหาดสองแคว กลุ่มโฮมสเตย์บ้านหาดสองแควมีแนวคิดในการเริ่มต้นที่ต้องการรองรับผู้ที่มาเยือนและคณะศึกษาดูงานที่ตำบลหาดสองแควที่ไม่มีที่พักและต้องไปพักที่โรงแรมในตัวเมืองจังหวัด ซึ่งทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทามากขึ้น นอกจากนั้นแกนนำกลุ่มยังมองเห็นถึงการต้นรับแขกผู้มาเยือนในฐานะญาติมาเยี่ยมญาติ ‘‘แบบกินอิ่มนอนอุ่น’’ รวมถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับแขกผู้มาเยือนดุจญาติมิตร มีแรงบันดาลใจ คืออยากต้อนรับแขกผู้มาเยือนตำบลหาดสองแควให้รู้จักตำบลหาดสองแควมากขึ้นโดยการนำเสนอด้วยอาหารพื้นบ้านและวิถีชีวิตของคนตำบลหาดสองแคว โดยมีองค์การบริหารส่วนตำบลหาดสองแควเข้ามาสนับสนุนและได้ให้ความสำคัญของกลุ่มจึงดำเนินกิจกรรมให้เกิดขึ้นในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพจนได้รับมาตรฐานโฮมสเตย์ไทย มีกิจกรรมที่หลากหลายในการต้อนรับแขก เช่น เยี่ยมชมดูวิถีชีวิตคนในตำบลหาดสองแคว มีการตักรบาตรเช้าที่หน้าบ้านพัก มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับแขกที่มาพักโดยการพูดคุยกัน

กลุ่มทำน้ำพริก หมู่ที่ 7 แนวคิดเริ่มก่อตั้งกลุ่มทำน้ำพริกมาจากคนในชุมชนมีอาชีพเป็นเกษตรกรทำนาและมีเวลาว่างช่วงรอการเก็บเกี่ยวแต่ละฤดูไม่มีรายได้หรืออาชีพเสริมประกอบกับชุมชนมีการปลูกพริกเป็นจำนวนมาก  บางครั้งถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง อีกทั้งแกนนำและคนในชุมชนยังมีความรู้ภูมิปัญญาในด้านการประกอบอาหารเป็นอย่างดี จึงได้ชักชวนกันจัดตั้งเป็นกลุ่มทำน้ำพริกขึ้น  เพื่อให้คนในชุมชนมีรายได้และเข้ามาทำงานร่วมสร้างความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกันของคนในกลุ่มและชุมชน  โดยมีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์น้ำพริก เช่น น้ำพริกปลาร้าบอง,น้ำพริกปลาย่าง เป็นต้น  สามารถยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

กลุ่มไม้ดอกไม้ประดับ กลุ่มไม้ดอกไม้ประดับจัดตั้งขึ้น เพื่อส่งเสริมอาชีพและรายได้ให้แก่คนในชุมชน โดยเกิดจากสมาชิกในกลุ่มได้ไปเข้าร่วมปลูกไม้ดอกกับหมู่บ้านใกล้เคียงจึงทำให้คนในชุมชนหมู่ 7 เกิดความสนใจเพื่อทำเป็นอาชีพเสริมและรายได้เสริม จึงเกิดการพูดคุยและรวมกลุ่มกันขึ้นเป็นสมาชิกผู้ปลูกดอกไม้ มีการเรียนรู้หาความรู้เพิ่มเติมจากที่สถานที่ต่างๆและจาก อบต.หาดสองแคว ในเรื่องการทำปุ๋ย,การตอนกิ่งและชำกิ่ง,การเพาะพันธุ์เอง เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มกำไร ไม้ดอกหลักๆก็จะมี กุหลาบ,ดาวเรือง,เบญจมาศ เป็นต้น เพื่อส่งขายให้ได้ตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมายต่างๆ  จากการรวมกลุ่มทำให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มมากขึ้นนอกจากรายได้หลักที่ทำการเกษตรทำนา ทำไร่ สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

กลุ่มทำข้าวเกรียบหมู่ที่ 5 แนวคิดการก่อตั้งกลุ่มชาวบ้านมีเวลาว่างจากการทำนาทำไร่ อยากหาอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้ในครัวเรือนประกอบกับแนวคิดอีกอย่างอยากให้คนในชุมชนรู้จักนำเอาผลิตผลทางการเกษตรในท้องถิ่น เช่น ใบเตย ฟักทอง เผือก เป็นต้น เพื่อเพิ่มมูลค่า จึงเกิดการรวบตัวของสมาชิกในชุมชนขึ้นซึ่งตอนแรกข้าวเกรียบจะอยู่ในกลุ่มเดียวกับกลุ่มแม่บ้านแหลมคูณก้าวหน้าแต่เนื่องด้วยผลิตภัณฑ์ของกลุ่มแม่บ้านแหลมคูณมีมากจึงอยากให้ผลิตภัณฑ์แยกออกเป็นกลุ่มย่อยเพื่อง่ายต่อการจัดการและดูแลแต่ก็ดำเนินงานเป็นเครือข่ายร่วมกับกลุ่มแม่บ้านแหลมคูณอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ร่วมกันช่วยเหลือกัน สร้างรายได้ให้สมาชิกในกลุ่มอย่างทั่วถึง

กลุ่มสมุนไพรไทยชงดื่ม แนวคิดการก่อตั้งกลุ่มชาวบ้านมีเวลาว่างจากการทำนาทำไร่ อยากหาอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้ในครัวเรือนประกอบกับแนวคิดอีกอย่างอยากให้คนในชุมชนรู้จักหันมาดูแลสุขภาพ ให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง และอยากให้เยาวชนรุ่นหลังรู้จักสรรพคุณของสมุนไพรแต่ละชนิด จึงเกิดการรวบตัวของสมาชิกในชุมชนขึ้นซึ่งตอนแรกแปรรูปสมุนไพรจะอยู่ในกลุ่มเดียวกับกลุ่มแม่บ้านแหลมคูณก้าวหน้าแต่เนื่องด้วยผลิตภัณฑ์ของกลุ่มแม่บ้านแหลมคูณมีมากจึงอยากให้ผลิตภัณฑ์แยกออกเป็นกลุ่มย่อยเพื่อง่ายต่อการจัดการและดูแลแต่ก็ดำเนินงานเป็นเครือข่ายร่วมกับกลุ่มแม่บ้านแหลมคูณอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ร่วมกันช่วยเหลือกัน  สร้างรายได้ให้สมาชิกในกลุ่มอย่างทั่วถึง

กลุ่มมะขามแก้ว 4 รส แนวคิดการก่อตั้งกลุ่มชาวบ้านมีเวลาว่างจากการทำนาทำไร่ อยากหาอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้ในครัวเรือนประกอบกับแนวคิดอีกอย่างอยากให้คนในชุมชนรู้จักนำเอาผลิตผลทางการเกษตรในท้องถิ่นมาเพิ่มมูลค่า จึงเกิดการรวบตัวของสมาชิกในชุมชนขึ้นซึ่งตอนแรกข้าวเกรียบจะอยู่ในกลุ่มเดียวกับกลุ่มแม่บ้านแหลมคูณก้าวหน้าแต่เนื่องด้วยผลิตภัณฑ์ของกลุ่มแม่บ้านแหลมคูณมีมากจึงอยากให้ผลิตภัณฑ์แยกออกเป็นกลุ่มย่อยเพื่อง่ายต่อการจัดการและดูแลแต่ก็ดำเนินงานเป็นเครือข่ายร่วมกับกลุ่มแม่บ้านแหลมคูณอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ร่วมกันช่วยเหลือกัน  สร้างรายได้ให้สมาชิกในกลุ่มอย่างทั่วถึง


ระบบการเรียนรู้เพื่อเด็กและเยาวชน

แนวคิดหลัก

เรียนรู้และการจัดกิจกรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาคน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นในอนาคต ทั้งนี้การเสริมสร้างในการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เกิดความรู้และการร่วมทำกิจกรรมของเด็กและเยาวชนในท้องถิ่น โดยอาศัยการถ่ายทอดความรู้จากผู้รู้ในชุมชนและการจัดกระบวนการศึกษาที่เน้นการเรียนรู้จากการร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ของเด็กและเยาวชน เพื่อเด็กและเยาวชนสามารถนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันและมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นต่อไปได้ องค์การบริหารส่วนตำบลหาดสองแควมีแนวคิดเน้นบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมโดยคำนึงถึงหลักการและแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนและประชาสังคมในท้องถิ่น รวมทั้งกลุ่มเด็กและเยาวชนเข้ามามีบทบาทในกระบวนการตัดสินใจทางการบริหารราชการ โดยเฉพาะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลหาดสองแคว ในการพัฒนาสังคม และมีส่วนร่วมกับผู้ใหญ่และหน่วยงานของรัฐในการแก้ไขปัญหาของชุมชน ในด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สภาเด็กและเยาวชนตำบลหาดสองแคว สภาเด็กและเยาวชน เกิดจากกลุ่มผู้ใหญ่เห็นเด็กๆในชุมชนวิ่งเล่นไม่มีกิจกรรมทำ จึงได้หากิจกรรมให้ทำเพื่อสร้างรายได้และใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์จึงได้สร้างกลุ่มปุ๋ยหมัก ปลูกผัก และปั่นจักรยานจำหน่ายผักตามหมู่บ้าน จนสามารถขยายการจัดการขยะโดยชุมชนทั้งตำบล ซึ่งเป็นแหล่งศึกษาดูงานและได้เผยแพร่กิจกรรมของเยาวชนผ่านสื่อโทรทัศน์หลายช่อง และได้เริ่มจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนตำบลหาดสองแควอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2553 องค์การบริหารส่วนตำบลหาดสองแควมีแนวคิดเน้นบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมโดยคำนึงถึงหลักการและแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนและประชาสังคมในท้องถิ่น รวมทั้งกลุ่มเด็กและเยาวชนเข้ามามีบทบาทในกระบวนการตัดสินใจทางการบริหารราชการ โดยเฉพาะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลหาดสองแคว ในการพัฒนาสังคม และมีส่วนร่วมกับผู้ใหญ่และหน่วยงานของรัฐในการแก้ไขปัญหาของชุมชน ในด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากการจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนตำบลหาดสองแควได้มีการลงพื้นที่แบบหมุนเวียนไปในพื้นที่ 7 หมู่บ้านเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านยาเสพติด การเมือง รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์รับทราบปัญหาความต้องการและรับฟังข้อเสนอแนะจากเด็กและเยาวชนในพื้นที่ตำบลหาดสองแควเพื่อนำข้อมูลหรือปัญหามาทำการปรับปรุงแก้ไขให้แก่เด็กและเยาวชนต่อไป

กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.น้อย)  ตำบลหาดสองแคว กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.น้อย) เป็นการรวมกลุ่มของเยาวชนตำบลหาดสองแคว เพื่อทำกิจกรรมร่วมกันและใช้เวลาว่างจากการเรียนในวันเสาร์ - อาทิตย์ และช่วงปิดภาคเรียนเพื่อเป็นการเรียนรู้ในด้านสาธารณสุข  อสม.ประจำหมู่บ้านสามารถถ่ายทอดความรู้สู่เด็กและเยาวชน(อสม.น้อย) ในชุมชนตำบลหาดสองแควได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยอสม.น้อยได้เป็นส่วนหนึ่งมีบทบาทในด้านการช่วยเหลือชุมชน ปลูกจิตสำนึกที่ดีสนับสนุนให้เยาวชนที่มีความสนใจ ตั้งใจ และเสียสละเวลาช่วยเหลือประชาชนได้ อสม.น้อยได้ร่วมทำกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพของประชาชนตำบลหาดสองแคว  ดังนี้ 1.)การวัดความดันให้กับผู้สูงอายุ 2.) มีการชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูงและวัดรอบเอวให้กับประชาชนในหมู่บ้าน 3.) การออกตรวจลูกน้ำยุงลาย และใส่ทรายอะเบท ตามบ้านเรือนในชุมชน 4.) การคว่ำกระป๋อง กะลาและแหล่งที่มีน้ำขัง และ 5.) การเลี้ยงปลาหางนกยูงเพื่อกำจัดลูกน้ำยุงลายที่เป็นพาหะนำเชื้อโรคก่อให้เกิดโรคไข้เลือดออก ได้มีการจัดกิจกรรมให้มีการอบรมให้ความรู้กับเยาวชนที่เป็น อสม.น้อย เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน และเรียนรู้การอยู่ร่วมกันและยังได้พัฒนาหมู่บ้านในชุมชน สร้างประโยชน์ให้กับหมู่บ้านได้อย่างยั่งยืนต่อไป

กลุ่มอนุรักษ์รถโบราณ กลุ่มอนุรักษ์รถโบราณ เกิดจากกลุ่มเยาวชนในตำบลมีใจรักรถเก่าและมีความชำนาญทางด้านเครื่องยนต์ จึงได้มีการรวมกกลุ่มกันแต่งรถโบราณขึ้นมาเพื่อการอนุรักษ์เก่าไว้ให้รุ่นน้องได้ดู เยาวชนกลุ่มอนุรักษ์รถโบราณจะมารวมกลุ่มกันทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อชุมชน โดยการเก็บขยะ ดูแลต้นไม้ข้างทาง รวบรวมเงินและเครื่องนุ่งห่มเพื่อบริจาคแก่ผู้สูงอายุ โดยสมาพันธ์รถโบราณภาคเหนือรวบรวมไปแจก นอกจากนี้ยังเข้าร่วมทำงานกับสภาเด็กและเยาวชนในการหาข้อมูลปัญหาความต้องการของเยาวชน มีส่วนร่วมในกิจกรรมแข็งขันกีฬาในตำบล เด็กๆ มีแนวคิดพยายามดึงดูดเด็กรุ่นน้องเข้ากลุ่มเพื่อร่วมทำประโยชน์แก่ชุมชน โดยมีกลวิธี คือการรวมกลุ่มไปเที่ยวโดยใช้รถโบราณ ซึ่งจะจัดระบบการดูแลกันเองขณะเดินทาง

กลุ่มพัฒนาฝีมือแรงงานงานจากภูมิปัญญาท้องถิ่น(ไม้กวาดจากทางมะพร้าว) แนวคิดการเกิดกลุ่มทำไม้กวาดทางมะพร้าว เริ่มจากชาวบ้านประสบปัญหาการว่างงานกันเป็นจำนวนมาก ทำให้ชาวบ้านขาดรายได้ รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มคนพิการในหมู่บ้านด้วยที่ไม่มีงานทำ ต่อมา ผู้ใหญ่บุญนาค เอกา มีแนวคิดที่จะแก้ไขปัญหาการว่างงานให้กับชาวบ้าน ผู้ใหญ่บุญนาค เอกา จึงจัดให้มีการประชุมปรึกษาหารือร่วมกันเพื่อรับฟังความคิดเห็น หลังจากที่มีการประชุมร่วมกันเสร็จแล้ว ก็มีกาจัดตั้งกลุ่มทำไม้กวาดทางมะพร้าวขึ้นในชุมชน โดยสมาชิกและแกนนำหลักก็จะเป็นกลุ่มแม่บ้านหาดสองแคว กลุ่มคนว่างงาน กลุ่มผู้สูงอายุ โดยมีวิธีการสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มคือ(ผู้ที่จะเข้าเป็นสมาชิกต้องจ่ายคาสมัคร คนละ 20 บาท) และมีการฝึกอบรมให้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องการทำไม้กวาด ทำให้สมาชิกกลุ่มทำไม้กวาดจำหน่ายโดยการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น ทำให้เกิดการอนุรักษ์และสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น เกิดศูนย์การเรียนรู้แก่คนรุ่นหลังและสร้างรายได้เสริม ซึ่งปัจจุบันทางกลุ่มได้จัดตั้งเป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้ในเรื่องการทำไม้กวาดจากทางมะพร้าวที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ได้

Visit the new site http://lbetting.co.uk/ for a ladbrokes review.